วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กลองแขก

กลองแขก เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรงกระบอก ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ. หน้าใหญ่ กว้างประมาณ 20 cm เรียกว่า หน้ารุ่ยหรือ "หน้ามัด" ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ 15 cm เรียกว่า หน้าต่านหรือ"หน้าตาด" ตัวกลองหรือหุ่นกลองสามารถทำขึ้นได้จากไม้หลายชนิดแต่โดยมากจะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นหุ่นกลอง เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะริด ไม้พยุง กระพี้เขาควาย ขนุน สะเดา มะค่า มะพร้าว ตาล ก้ามปู เป็นต้น ขอบกลองทำมาจากหวายผ่าซีกโยงเรียงเป็นขอบกลองแล้วม้วนด้วยหนังจะได้ขอบกลองพร้อมกับหน้ากลอง และถูกขึงให้ตึงด้วยหนังเส้นเล็ก เรียกว่าหนังเรียดเพื่อใช้ในการเร่งเสียงให้หน้ากลองแต่ละหน้าได้เสียงที่เหมาะสมตามความพอใจ กลองแขกสำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียก ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียก ตัวเมีย ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก

ปี่มอญ

ปี่มอญ เป็นเครื่องเป่าในตระกูลปี่ ไทยได้แบบอย่างมาจากมอญ ปี่ชนิดนี้แบ่งเป็น 2 ท่อน ท่อนแรกเรียกว่า"ตัวเลา" ทำด้วยไม้จริง กลึงให้กลมเรียวยาว ภายในโปร่งตลอด ตอนปลายกลึงผายออกเล็กน้อย ถัดลงมากลึงเป็นลูกแก้วคั่นสำหรับผูกเชือกโยงกับตัวลำโพง ที่ตัวเลาด้านหน้าเจาะรู 7 รู เรียงตามลำดับเพื่อเปิดปิดนิ้วบังคับเสียง ด้านหลังตอนบนเจาะอีก 1 รูเป็น"รูนิ้วคำ" อีกท่อนหนึ่งเรียกว่าลำโพง ทำด้วยทองเหลืองหรือสแตนเลส ลักษณะคล้ายดอกลำโพง แต่ใหญ่กว่า ปลายผายบานงุ้มขึ้น ตอนกลางและตอนปลายตีเป็นลูกแก้ว ตัวเลาปี่จะสอดใส่เข้าไปในลำโพง โดยมีเชือกเคียนเป็นทักษิณาวัฏ ในเงื่อน"สับปลาช่อน" ยึดระหว่างลูกแก้วลำโพงปี่กับลูกแก้วตอนบนของตัวเลาปี่ เพื่อไม่ให้หลุดออกจากกันง่ายๆ
เนื่องจากว่าปี่มอญมีขนาดใหญ่และยาวกว่าปี่อื่นๆ ทำให้กำพวดของปี่จึงต้องยาวไปตามส่วนโดยมีความยาวประมาณ 8-9 ซม. และเขื่องกว่ากำพวดของปี่ชวา และมีแผ่นกะบังลมเช่นเดียวกับปี่ชวาและปี่ไฉน[1]

ปี่ชวา

ปี่ชวา เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่มีลิ้น เข้าใจว่าเมืองไทยรับมาในคราวเดียวกับกลองแขก ส่วนประกอบของปี่ชวามีดังนี้
  • ตัวเลา ทำด้วยไม้จริงจริง แบ่งเป็น 2ท่อน ท่อนแรกเรียกว่า"เลาปี่" กลึงให้กลมเรียวยาว ภายในโปร่งตลอด ตอนโคนกลึงให้ใหญ่เล็กน้อย มีลูกแก้วคั่น ท่อนบนของลำปี่ ใต้ลูกแก้วเจาะรู 7รูเรียงตามลำดับ สำหรับปิดเปิด และมี"รูนิ้วค้ำ" อยู่ด้านหลังใกล้กับลูกแก้ว อีกท่อนหนึ่งเรียกว่า"ลำโพงปี่" ทำด้วยไม้จริง กลึงให้กลมเรียว ปลายบานเหมือนดอกลำโพง ภายในโปร่ง ตอนกลางกลึงเป็นลูกแก้วคั่น ตอนบนจะหุ้มด้วยแผ่นโลหะบางๆ โดยรอบ สวมรับกับตัวลำปี่ได้พอดี
  • ลิ้นปี่ ทำด้วยใบตาลแก่ ตัดพับซ้อนกันเป็น 4กลีบ สอดใส่ที่ปลาย"กำพวด" ซึ่งทำด้วยโลหะกลมเล็กยาว ภายในโปร่ง ผูกด้วยเชือกเส้นเล็กๆด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด เคียนด้วยด้ายที่โคนกำพวด เพื่อสอดใส่ให้แน่นในรูปี่ เฉพาะลิ้นปี่ชวาจะมี"กะบังลม"ซึ่งทำด้วยไม้หรือกะลา บางกลม สำหรับรองรับริมฝีปากขณะเป่า สำหรับตัวเลาปี่ชวา นอกจากจะทำด้วยไม้แล้ว ยังสามารถทำให้สวยงามด้วยงาทั้งเลา หรือทำด้วยไม้ประดับงา
ปี่ชวาใช้ในการบรรเลงในวงบัวลอย วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวานอกจากนี้ปี่ชวายังใช้ในการเป่าประกอบการรำกระบี่กระบองและการชกมวยอีกด้วย

ปี่นอก

ปี่นอกเป็นปี่ที่มีเสียงสูงสุดในบรรดาเครื่องเป่าตระกูลปี่ใน ลักษณะมีขนาดเล็กและเสียงแหลม มีความยาวประมาณ 31 เซนติเมตร มึความกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร มีลักษณะบานหัวบานท้ายเช่นเดียวกับปี่ใน บริเวณเลาปี่ที่ป่องเจาะรู 6 รู ปี่นอกใช้เล่นในวงปี่พาทย์ไม้แข็งและวงปี่พาทย์ชาตรี

ปี่ใน

ปี่ใน เป็นปี่ที่มีขนาดใหญ่และมีเสียงต่ำ ในบรรดาเครื่องเป่าที่มีลิ้นตระกูลปี่ใน ลักษณะเป็นปี่ท่อนเดียว ลำปี่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงเรียกว่า"เลา" เป็นเครื่องเป่าที่มีลิ้น ผสมอยู่ในวงปี่พาทย์มาแต่โบราณ ที่เรียกว่า " ปี่ใน " ก็เพราะว่า ปี่ชนิดนี้ เทียบเสียงตรงกับระดับเสียงที่เรียกว่า " เสียงใน " ซึ่งเป็นระดับเสียงที่วงปี่พาทย์ไม้แข็ง บรรเลงเป็นพื้นฐาน ปี่ในใช้บรรเลงใน[[วงปี่พาทย์เครี่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ และได้ใช้ประกอบการแสดงละครใน
เลาปี่ทำมาจากไม้ เช่น ไม้พยุง ไม้ชิงชัน มีความยาวประมาณ 52 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีลักษณะหัวบานท้ายและป่องตรงกลาง เจาะรูกลางตลอดเลา ด้านบนมีรูเล็กใช้เสียบลิ้นปี่ ด้านล่างรูจะใหญ่ บริเวณเลาปี่ที่ป่องตรงกลางจะเจาะรู 6 รู ลิ้นปี่ทำจากใบตาลนำมาตัดซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดผูกกับท่อทองเหลืองเล็กๆ เรียกว่า"กำพวด" ตัวเลาทำด้วยไม้ชิงชัน หรือไม้พยุง กลึงให้ป่องกลาง และบานปลายทั้งสองข้าง ตัวเลาปี่นอกจากจะทำด้วยไม้ แล้วยังพบปี่ซึ่งทำด้วยหิน เป็นของเก่าแต่โบราณ
ภายในเจาะ เป็นรูกลวงตลอดหัวท้ายมีรูสำหรับเปิดปิดนิ้ว 6 รู โดยให้ 4 รูบนเรียงลำดับเท่ากันเว้นห่างพอควร อีก 2 รูอยู่ระหว่างช่องตอนกลางของแต่ละรู ตอนท้ายของเลาปี่จะมีวัสดุกลมแบน ทำด้วยยาง หรือไม้มาเสริม โดยเฉพาะตอนบน สำหรับสอดใส่ลิ้นปี่ เรียกว่า " ทวนบน " ส่วนตอนล่างจะใช้ตะกั่วมาต่อสำหรับลดเลื่อนเสียงเรียกว่า " ทวนล่าง " ลิ้นปี่ประกอบด้วย กำพวด ทำด้วยโลหะ ลักษณะกลมเล็ก เรียว ภายในโปร่งข้างหนึ่งเล็ก ข้างหนึ่งใหญ่ ใบตาล ใช้ใบตาลแก่และแกร่งตัดซ้อน เป็น 4 ชั้น หรือ 4 กรีบ ผูกรัดด้วยเชือกในลักษณะเงื่อน" ตะกรุดเบ็ด " ให้ติดกับกำพวดทางด้านเล็กส่วน ทางด้านใหญ่จะถักหรือเคียนด้วยเส้นเล็กๆ มีขนาดพอดีกับรูปี่ด้านบน (รูเป่า) เพื่อสอดใส่ลิ้นปี่ให้แน่น

ขลุ่ย

ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีโบราณของไทยชนิดหนึ่ง สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดขึ้นก่อนหรือในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ร่วมสมัยกับเครื่องดนตรีประเภท กลอง ฆ้อง กรับ พิณเพียะ แคน ขลุ่ย ปี่ ซอ และกระจับปี่ แต่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏ ในกฎมนเฑียรบาลสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) แห่งกรุงศรีอยุธยาว่าห้ามร้องเพลงหรือเป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดกระจับปี่ ดีดจะเข้ ตีตะโพนในเขตพระราชฐานก่อนที่จะมาเป็นขลุ่ยอย่างที่ปรากฏรูปร่างในปัจจุบัน ขลุ่ยได้ผ่านการวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลายาวนาน มาจากปี่อ้อซึ่งตัวปี่หรือเลาทำจากไม้รวกท่อนเดียวไม่มีข้อ และมีลิ้นซึ่งทำด้วยไม้อ้อลำเล็กสำหรับเป่าให้เกิดเสียง หลังจากนั้นจึงปรับเปลี่ยนรูปร่าง และวิธีเป่าจนกลายมาเป็นขลุ่ยอย่างที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่าเป็นขลุ่ยเพียงออ

สะล้อ

สะล้อเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นประเภทเครื่องสีซึ่งมีทั้ง 2 สายและ 3 สาย คันชักสำหรับสีจะอยู่ข้างนอกเหมือนคันชักซอสามสาย สะล้อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทร้อ หรือ ซะล้อ มีรูปร่างคล้ายซออู้ของภาคกลาง ใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ปิดปากกะลาทำหลักที่หัวสำหรับพาดทองเหลือง ด้านหลังกะโหลกเจาะเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปหนุมาน รูปหัวใจ ส่วนด้านล่างของกะโหลก เจาะทะลุลง ข้างล่าง เพื่อสอดคันทวนที่ทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 64 ซม ตรงกลางคันทวนมีรัดอกทำด้วยหวาย ปลายคันทวนด้านบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ซึ่งมี 2 หรือ 3 อัน สำหรับขึงสายซอ จากปลายลูกบิดลงมาถึงด้านกลางของกะโหลกมีหย่องสำหรับ หนุนสายสะล้อเพื่อให้เกิดเสียงเวลาสี คันชักสะล้อทำด้วยไม้ดัดเป็นรูปโค้ง ขึงด้วยหางม้าหรือพลาสติก เวลาสีใช้ยางสนถูทำให้เกิดเสียงได้
สะล้อใช้บรรเลงประกอบการแสดงหรือบรรเลงร่วมกับบทร้องและทำนองเพลงได้ทุกชนิดเช่น เข้ากับปี่ในวงช่างซอ เข้ากับซึงในวงพื้นเมือง หรือใช้เดี่ยวคลอร้องก็ได้