วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กลองแขก

กลองแขก เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรงกระบอก ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ. หน้าใหญ่ กว้างประมาณ 20 cm เรียกว่า หน้ารุ่ยหรือ "หน้ามัด" ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ 15 cm เรียกว่า หน้าต่านหรือ"หน้าตาด" ตัวกลองหรือหุ่นกลองสามารถทำขึ้นได้จากไม้หลายชนิดแต่โดยมากจะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นหุ่นกลอง เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะริด ไม้พยุง กระพี้เขาควาย ขนุน สะเดา มะค่า มะพร้าว ตาล ก้ามปู เป็นต้น ขอบกลองทำมาจากหวายผ่าซีกโยงเรียงเป็นขอบกลองแล้วม้วนด้วยหนังจะได้ขอบกลองพร้อมกับหน้ากลอง และถูกขึงให้ตึงด้วยหนังเส้นเล็ก เรียกว่าหนังเรียดเพื่อใช้ในการเร่งเสียงให้หน้ากลองแต่ละหน้าได้เสียงที่เหมาะสมตามความพอใจ กลองแขกสำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียก ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียก ตัวเมีย ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก

ปี่มอญ

ปี่มอญ เป็นเครื่องเป่าในตระกูลปี่ ไทยได้แบบอย่างมาจากมอญ ปี่ชนิดนี้แบ่งเป็น 2 ท่อน ท่อนแรกเรียกว่า"ตัวเลา" ทำด้วยไม้จริง กลึงให้กลมเรียวยาว ภายในโปร่งตลอด ตอนปลายกลึงผายออกเล็กน้อย ถัดลงมากลึงเป็นลูกแก้วคั่นสำหรับผูกเชือกโยงกับตัวลำโพง ที่ตัวเลาด้านหน้าเจาะรู 7 รู เรียงตามลำดับเพื่อเปิดปิดนิ้วบังคับเสียง ด้านหลังตอนบนเจาะอีก 1 รูเป็น"รูนิ้วคำ" อีกท่อนหนึ่งเรียกว่าลำโพง ทำด้วยทองเหลืองหรือสแตนเลส ลักษณะคล้ายดอกลำโพง แต่ใหญ่กว่า ปลายผายบานงุ้มขึ้น ตอนกลางและตอนปลายตีเป็นลูกแก้ว ตัวเลาปี่จะสอดใส่เข้าไปในลำโพง โดยมีเชือกเคียนเป็นทักษิณาวัฏ ในเงื่อน"สับปลาช่อน" ยึดระหว่างลูกแก้วลำโพงปี่กับลูกแก้วตอนบนของตัวเลาปี่ เพื่อไม่ให้หลุดออกจากกันง่ายๆ
เนื่องจากว่าปี่มอญมีขนาดใหญ่และยาวกว่าปี่อื่นๆ ทำให้กำพวดของปี่จึงต้องยาวไปตามส่วนโดยมีความยาวประมาณ 8-9 ซม. และเขื่องกว่ากำพวดของปี่ชวา และมีแผ่นกะบังลมเช่นเดียวกับปี่ชวาและปี่ไฉน[1]

ปี่ชวา

ปี่ชวา เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่มีลิ้น เข้าใจว่าเมืองไทยรับมาในคราวเดียวกับกลองแขก ส่วนประกอบของปี่ชวามีดังนี้
  • ตัวเลา ทำด้วยไม้จริงจริง แบ่งเป็น 2ท่อน ท่อนแรกเรียกว่า"เลาปี่" กลึงให้กลมเรียวยาว ภายในโปร่งตลอด ตอนโคนกลึงให้ใหญ่เล็กน้อย มีลูกแก้วคั่น ท่อนบนของลำปี่ ใต้ลูกแก้วเจาะรู 7รูเรียงตามลำดับ สำหรับปิดเปิด และมี"รูนิ้วค้ำ" อยู่ด้านหลังใกล้กับลูกแก้ว อีกท่อนหนึ่งเรียกว่า"ลำโพงปี่" ทำด้วยไม้จริง กลึงให้กลมเรียว ปลายบานเหมือนดอกลำโพง ภายในโปร่ง ตอนกลางกลึงเป็นลูกแก้วคั่น ตอนบนจะหุ้มด้วยแผ่นโลหะบางๆ โดยรอบ สวมรับกับตัวลำปี่ได้พอดี
  • ลิ้นปี่ ทำด้วยใบตาลแก่ ตัดพับซ้อนกันเป็น 4กลีบ สอดใส่ที่ปลาย"กำพวด" ซึ่งทำด้วยโลหะกลมเล็กยาว ภายในโปร่ง ผูกด้วยเชือกเส้นเล็กๆด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด เคียนด้วยด้ายที่โคนกำพวด เพื่อสอดใส่ให้แน่นในรูปี่ เฉพาะลิ้นปี่ชวาจะมี"กะบังลม"ซึ่งทำด้วยไม้หรือกะลา บางกลม สำหรับรองรับริมฝีปากขณะเป่า สำหรับตัวเลาปี่ชวา นอกจากจะทำด้วยไม้แล้ว ยังสามารถทำให้สวยงามด้วยงาทั้งเลา หรือทำด้วยไม้ประดับงา
ปี่ชวาใช้ในการบรรเลงในวงบัวลอย วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวานอกจากนี้ปี่ชวายังใช้ในการเป่าประกอบการรำกระบี่กระบองและการชกมวยอีกด้วย

ปี่นอก

ปี่นอกเป็นปี่ที่มีเสียงสูงสุดในบรรดาเครื่องเป่าตระกูลปี่ใน ลักษณะมีขนาดเล็กและเสียงแหลม มีความยาวประมาณ 31 เซนติเมตร มึความกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร มีลักษณะบานหัวบานท้ายเช่นเดียวกับปี่ใน บริเวณเลาปี่ที่ป่องเจาะรู 6 รู ปี่นอกใช้เล่นในวงปี่พาทย์ไม้แข็งและวงปี่พาทย์ชาตรี

ปี่ใน

ปี่ใน เป็นปี่ที่มีขนาดใหญ่และมีเสียงต่ำ ในบรรดาเครื่องเป่าที่มีลิ้นตระกูลปี่ใน ลักษณะเป็นปี่ท่อนเดียว ลำปี่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงเรียกว่า"เลา" เป็นเครื่องเป่าที่มีลิ้น ผสมอยู่ในวงปี่พาทย์มาแต่โบราณ ที่เรียกว่า " ปี่ใน " ก็เพราะว่า ปี่ชนิดนี้ เทียบเสียงตรงกับระดับเสียงที่เรียกว่า " เสียงใน " ซึ่งเป็นระดับเสียงที่วงปี่พาทย์ไม้แข็ง บรรเลงเป็นพื้นฐาน ปี่ในใช้บรรเลงใน[[วงปี่พาทย์เครี่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ และได้ใช้ประกอบการแสดงละครใน
เลาปี่ทำมาจากไม้ เช่น ไม้พยุง ไม้ชิงชัน มีความยาวประมาณ 52 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีลักษณะหัวบานท้ายและป่องตรงกลาง เจาะรูกลางตลอดเลา ด้านบนมีรูเล็กใช้เสียบลิ้นปี่ ด้านล่างรูจะใหญ่ บริเวณเลาปี่ที่ป่องตรงกลางจะเจาะรู 6 รู ลิ้นปี่ทำจากใบตาลนำมาตัดซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดผูกกับท่อทองเหลืองเล็กๆ เรียกว่า"กำพวด" ตัวเลาทำด้วยไม้ชิงชัน หรือไม้พยุง กลึงให้ป่องกลาง และบานปลายทั้งสองข้าง ตัวเลาปี่นอกจากจะทำด้วยไม้ แล้วยังพบปี่ซึ่งทำด้วยหิน เป็นของเก่าแต่โบราณ
ภายในเจาะ เป็นรูกลวงตลอดหัวท้ายมีรูสำหรับเปิดปิดนิ้ว 6 รู โดยให้ 4 รูบนเรียงลำดับเท่ากันเว้นห่างพอควร อีก 2 รูอยู่ระหว่างช่องตอนกลางของแต่ละรู ตอนท้ายของเลาปี่จะมีวัสดุกลมแบน ทำด้วยยาง หรือไม้มาเสริม โดยเฉพาะตอนบน สำหรับสอดใส่ลิ้นปี่ เรียกว่า " ทวนบน " ส่วนตอนล่างจะใช้ตะกั่วมาต่อสำหรับลดเลื่อนเสียงเรียกว่า " ทวนล่าง " ลิ้นปี่ประกอบด้วย กำพวด ทำด้วยโลหะ ลักษณะกลมเล็ก เรียว ภายในโปร่งข้างหนึ่งเล็ก ข้างหนึ่งใหญ่ ใบตาล ใช้ใบตาลแก่และแกร่งตัดซ้อน เป็น 4 ชั้น หรือ 4 กรีบ ผูกรัดด้วยเชือกในลักษณะเงื่อน" ตะกรุดเบ็ด " ให้ติดกับกำพวดทางด้านเล็กส่วน ทางด้านใหญ่จะถักหรือเคียนด้วยเส้นเล็กๆ มีขนาดพอดีกับรูปี่ด้านบน (รูเป่า) เพื่อสอดใส่ลิ้นปี่ให้แน่น

ขลุ่ย

ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีโบราณของไทยชนิดหนึ่ง สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดขึ้นก่อนหรือในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ร่วมสมัยกับเครื่องดนตรีประเภท กลอง ฆ้อง กรับ พิณเพียะ แคน ขลุ่ย ปี่ ซอ และกระจับปี่ แต่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏ ในกฎมนเฑียรบาลสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) แห่งกรุงศรีอยุธยาว่าห้ามร้องเพลงหรือเป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดกระจับปี่ ดีดจะเข้ ตีตะโพนในเขตพระราชฐานก่อนที่จะมาเป็นขลุ่ยอย่างที่ปรากฏรูปร่างในปัจจุบัน ขลุ่ยได้ผ่านการวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลายาวนาน มาจากปี่อ้อซึ่งตัวปี่หรือเลาทำจากไม้รวกท่อนเดียวไม่มีข้อ และมีลิ้นซึ่งทำด้วยไม้อ้อลำเล็กสำหรับเป่าให้เกิดเสียง หลังจากนั้นจึงปรับเปลี่ยนรูปร่าง และวิธีเป่าจนกลายมาเป็นขลุ่ยอย่างที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่าเป็นขลุ่ยเพียงออ

สะล้อ

สะล้อเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นประเภทเครื่องสีซึ่งมีทั้ง 2 สายและ 3 สาย คันชักสำหรับสีจะอยู่ข้างนอกเหมือนคันชักซอสามสาย สะล้อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทร้อ หรือ ซะล้อ มีรูปร่างคล้ายซออู้ของภาคกลาง ใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ปิดปากกะลาทำหลักที่หัวสำหรับพาดทองเหลือง ด้านหลังกะโหลกเจาะเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปหนุมาน รูปหัวใจ ส่วนด้านล่างของกะโหลก เจาะทะลุลง ข้างล่าง เพื่อสอดคันทวนที่ทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 64 ซม ตรงกลางคันทวนมีรัดอกทำด้วยหวาย ปลายคันทวนด้านบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ซึ่งมี 2 หรือ 3 อัน สำหรับขึงสายซอ จากปลายลูกบิดลงมาถึงด้านกลางของกะโหลกมีหย่องสำหรับ หนุนสายสะล้อเพื่อให้เกิดเสียงเวลาสี คันชักสะล้อทำด้วยไม้ดัดเป็นรูปโค้ง ขึงด้วยหางม้าหรือพลาสติก เวลาสีใช้ยางสนถูทำให้เกิดเสียงได้
สะล้อใช้บรรเลงประกอบการแสดงหรือบรรเลงร่วมกับบทร้องและทำนองเพลงได้ทุกชนิดเช่น เข้ากับปี่ในวงช่างซอ เข้ากับซึงในวงพื้นเมือง หรือใช้เดี่ยวคลอร้องก็ได้

ซอด้วง

ซอด้วงเป็นซอสองสาย มีเสียงแหลม ก้องกังวาน คันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของ ซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้
แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ไม้เนื้อแข็ง ส่วนหน้าซอนิยมใช้หนังงูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะของซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู – ฉิน (Huchin) ทุกอย่าง เหตุที่เรียกว่า ซอด้วง ก็เพราะมีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ เพราะตัวด้วงดักสัตว์ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่เหมือนกีน จึงได้เรียกชื่อไปตามลักษณะนั้นนั่นเอง
สายซอด้วงนั้น มีเพียงสองสายและมีเสียงอยู่ สองเสียง คือสายเอกจะเป็นเสียง "เร" ส่วนสายทุ้มจะเป็นเสียง "ซอล" โดยใช้สายไหมฟั่นหรือว่าสายเอ็นก็ได้
ซอด้วงใช้ในวงเครื่องสาย วงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินทำนอง

ซออู้

ซออู้ เป็นซอสองสาย ตัวกะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าว โดยตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง และใช้หนังลูกวัวขึงขึ้นหน้าซอ กว้างประมาณ 13 – 14 ซม เจาะกะโหลกให้ทะลุตรงกลาง เพื่อใส่คันทวนที่ทำด้วยไม้จริง ผ่านกะโหลกลงไป ออกทะลุรูตอนล่างใกล้กะโหลก คันทวนซออู้นี้ ยาวประมาณ 79 ซม ใช้สายซอสองสายผูกปลายทวนใต้กะโหลก แล้วพาดผ่านหน้าซอ ขึ้นไปผูกไว้กับ ลูกบิดสองอัน ลูกบิดซออู้นี้ยาวประมาณ 17 –18 ซม โดยเจาะรูคันทวนด้านบน แล้วสอดลูกบิดให้ทะลุผ่านคันทวนออกมา และใช้เชือกผูกรั้งกับทวนตรงกลางเป็นรัดอก เพื่อให้สายซอตึง และสำหรับเป็นที่กดสายใต้รัดอกเวลาสี ส่วนคันสีของซออู้นั้นทำด้วย ไม้จริงยาวประมาณ 70 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 160 - 200 เส้น ตรงหน้าซอใช้ผ้าม้วนกลมๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นหมอนหนุน สายให้พ้นหน้าซอ ด้านหลังของกะโหลกซอ แกะสลักเป็นรูปลวดลายสวยงาม และเป็นช่องทางให้เสียงออกด้านนี้ด้วย
ซออู้มีรูปร่างคล้ายๆกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู – ฮู้ ( Hu-hu ) เหตุที่เรียกว่าซออู้ก็เพราะ เรียกตามเสียงที่ได้ยินนั่นเอง ซอด้วงและซออู้ ได้เข้ามามีบทบาทในวงดนตรีเครื่องสายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 นี่เอง โดยได้ดัดแปลงมาจาก วงกลองแขกเครื่องใหญ่ ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ทำลำนำประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ และ ปี่อ้อ ต่อมาได้เอากลองแขก ปี่อ้อ ออก และเอา ทับกับรำมะนา และขลุ่ยเข้ามาแทน เรียกวงดนตรีชนิดนี้ว่า วงมโหรีเครื่องสาย มีคนเล่นทั้งหมด 6 คน รวมทั้ง ฉิ่งด้วย

ซอสามสาย

ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จำพวกเครื่องสาย มีขนาดใหญ่กว่าซอด้วงหรือซออู้ และมีลักษณะพิเศษ คือมีสามสาย มีคันชักอิสระ กะโหลกซอมีขนาดใหญ่ นับเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสง่างามชิ้นหนึ่งในวงเครื่องสาย ผู้เล่นจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของวง
ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ (หน้า 30) ที่บันทึกไว้ว่า ชาวสยามมีเครื่องดุริยางค์เล็กๆ มีสามสายเรียกว่า “ซอ” ….” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น มีซอสามสายและนิยมเล่นกัน และลักษณะรูปร่างของซอสามสายก็คงจะยังไม่สวยงามมากอย่างในปัจจุบันนี้
จนมาถึงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ท่านมีอัจฉริยภาพในทางศิลปะด้านต่างๆ เช่น ทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง อีกประการหนึ่ง พระองค์ท่านยังโปรดทรงซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้พระองค์ท่านได้ประดิษฐ์คิดสร้างซอสามสายได้ด้วยความประณีต งดงาม และเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบันนี้

ขิม

ขิม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำอธิบายไว้ว่า "เครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง รูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกใช้ตี" ขิมถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยชาวจีนนำมาบรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสายจีน และประกอบการแสดงงิ้วบ้าง บรรเลงในงานเทศกาล และงานรื่นเริงต่าง ๆ บ้าง
คำว่า ขิม มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมาจากอักษรจีน ซึ่งในภาษาจีนกลางอ่านว่า ฉิน
นักดนตรีไทยนำขิมมาบรรเลงในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 โดยแก้ไขบางอย่าง คือเปลี่ยนสายลวดทองเหลืองให้มีขนาดโตขึ้น เทียบเสียงเรียงลำดับ ไปตลอดจน ถึงสายต่ำสุด เสียงคู่แปดมือซ้ายกับมือขวามีระดับเกือบตรงกัน เปลี่ยนไม้ตีให้ใหญ่และก้านแข็งขิ้น หย่องที่หนุนสาย มีความหนา กว่าของเดิมเพื่อให้เกิดความสมดุล และมีความประสงค์ให้เสียงดังมากขึ้น และไม่ให้เสียงที่ออกมาแกร่งกร้าวเกินไปให้ทาบสักหลาดหรือหนังตรงปลายไม้ตี ส่วนที่กระทบกับสาย ทำให้เสียงเกิดความนุ่มนวล และได้รับความนิยม บรรเลงร่วมอยู่ในวงเครื่องสายผสมจนถึงปัจจุบัน
เพลงที่นิยมบรรเลงกันมากคือ เพลงขิมเล็ก และเพลงขิมใหญ่ ซึ่งเป็นเพลงสำเนียงจีนที่เกิดขึ้นในราวปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระประดิษฐ์ไพเราะ ได้จำทำนองการตีขิมของคนจีนแล้วมาแต่งเป็นเพลงในอัตรา 2 ชั้นได้ 2 เพลง ตั้งชื่อว่า เพลงขิมเล็ก และเพลงขิมใหญ่ สำหรับเพลงขิมเล็ก พระประดิษฐ์ไพเราะได้แต่งขยายเป็นอัตรา 3 ชั้น ส่วนเพลงขิมใหญ่ ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้แต่งขึ้นเป็น อัตรา 3 ชั้น เช่นกัน และทั้ง 2 เพลงนี้ ครูมนตรี ตราโมทได้แต่งตัดลงเป็นอัตราชั้นเดียว จนครบเป็นเพลงเถา เมื่อประมาณปี พุทธศักราช 2478 และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้

ฆ้องวงเล็ก

ฆ้องวงเล็กเป็นเครื่องดนตรีไทยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีลักษณะเหมือนกับฆ้องวงใหญ่ แต่ลูกฆ้องมีขนาดเล็กกว่า มีลูกฆ้อง 18 ลูก บรรเลงทำนองคล้ายระนาดเอก แต่ตีเก็บถี่กว่าระนาดเอก
ฆ้องวงเล็กใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงมโหรี

ระนาดทุ้ม

ระนาดทุ้ม เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ย รองไว้ 4 มุมราง
หน้าที่ในวงของระนาดทุ้มนั้น ทำหน้าที่เดินทำนองรอง ในทางของตนเองซึ่งจะมีจังหวะโยน ล้อ ขัด ที่ทำให้เกิดความไพเราะและเติมเต็มช่องว่างของเสียง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของระนาดทุ้ม

ระนาดเอก

ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน ระนาดเอกใช้ในงานมงคล เป็นเครื่องดนตรีเป็นมงคลในบ้าน บรรเลงในวงปี่พาทย์และวงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวง

ซึง

ซึง เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด มี 4 สาย แต่แบ่งออกเป็น 2 เส้น เส้นละ 2 สาย มีลักษณะคล้าย กระจับปี่ แต่มีขนาดเล็กกว่า ความยาวทั้งคันทวนและกะโหลกรวมกันประมาณ 81 ซม. กะโหลกมีรูปร่างกลมวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 21 ซม. ทั้งกะโหลกและคันทวนใช้ไม้เนื้อแข็งชิ้นเดียวคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรง ตัดแผ่นไม้ให้กลม แล้วเจาะรูตรงกลางทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้กังวาน คันทวนเป็นเหลี่ยมแบนตอนหน้า เพื่อติดตะพานหรือนมรับนิ้ว จำนวน 9 อัน ตอนปลายคันทวนทำเป็นรูปโค้ง และขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ 2 อัน รวมเป็น 4 อันสอดเข้าไปในร่อง สำหรับขึ้นสาย 4 สาย สายของซึงใช้สายลวดขนาดเล็ก 2 สาย และ สายใหญ่ 2 สาย ซึงเป็นเครื่องดีดที่ชาวไทยทางภาคเหนือนิยมนำมาเล่นร่วมกับปี่ซอ หรือ ปี่จุ่ม และ สะล้อ
แบ่งตามลักษณะได้ 3 ประเภท คือ ซึงเล็ก ซึ่งกลาง และซึงหลวง (ซึงที่มีขนาดใหญ่)
แบ่งตามประเภทได้ 2 ชนิด คือ ซึงลูก 3 และซึงลูก 4 (แตกต่างกันที่เสียง ลูก 3 เสียงซอลจะอยู่ด้านล่าง ส่วนซึงลูก 4 เสียงซอลจะอยู่ด้านบน)
อธิบายคำว่า สะล้อ ซอ ซึง ที่มักจะพูดกันติดปาก ว่าเป็นเครื่องดนตรีของชาวล้านนา แต่ที่จริงแล้ว มีแค่ ซึง และสะล้อ เท่านั้นที่เป็นเครื่องดนตรีของชาวล้านนา ส่วนคำว่า ซอในที่นี้ หมายถึง การขับซอ ซึ่งเป็นการร้อง การบรรยาย พรรณณาเป็นเรื่องราว ประกอบกับวงปี่จุ่ม

กระจับปี่

กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด หรือพิณ 4 สายชนิดหนึ่ง ตัวกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง มีความหนาประมาณ 7 ซม. ด้านหน้ายาวประมาณ 44 ซม. กว้างประมาณ 40 ซม. ทำคันทวนเรียวยาวประมาณ 138 ซม. ตอนปลายคันทวนมีลักษณะ แบน และบานปลายผายโค้งออกไป ถ้าวัดรวมทั้งคันทวนและตัว กะโหลก จะมีความยาวประมาณ 180 ซม. มีลูกบิดสำหรับขึ้นสาย 4 อัน มีนมรับนิ้ว 11 นมเท่ากับจะเข้ ตรงด้านหน้ากะโหลกมีแผ่นไม้บางๆ ทำเป็นหย่องค้ำสายให้ตุงขึ้น เวลาบรรเลงใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จับไม้ดีด เขี่ยสายให้เกิดเสียง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า “ร้องเพลงเรือ เป่าปี่เป่าขลุ่ย สีซอดีดจะเข้ กระจับปี่ตีโทนทับ โห่ร้องนี่นั่น” ต่อมาก็นำมาใช้เป็นเครื่องดีดประกอบการขับไม้ สำหรับบรรเลงในพระราชพิธี แต่เนื่องจากกระจับปี่มีเสียงเบา และมีน้ำหนักมาก ผู้ดีดกระจับปี่จะต้องนั่งพับเพียบขวาแล้วเอาตัวกระจับปี่ วางบนหน้าขาข้างขวาของตน เพื่อทานน้ำหนัก มือซ้ายถือคันทวนมือ ขวาจับไม้ดีด เป็นที่ลำบากมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่นกระจับปี่ ในปัจจุบันจึงหาผู้เล่นได้ยาก
กระจับปี่ สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจาก ภาษาชวา คำว่า กัจฉปิ ซึ่งคำว่า กัจฉปิ นั้นมีรากฐานของคำศัพท์ ในบาลีสันสกฤต คำว่า กัจฉปะ ที่แปลว่า เต่า เนื่องจากลักษณะของ กระจับปี่นั้น จะมีกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง ซึ่งมองแล้วคล้ายกับกระดองของเต่า


จะเข้

จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย เข้าใจว่าได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพิณ คือ กระจับปี่ซึ่งมี 4 สาย นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก มีประวัติและมีหลักฐานครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมาก ทำให้กระจับปี่ค่อย ๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหาผู้เล่นเป็นน้อย
ตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหาง โดยลักษณะทางตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาประมาณ 12 ซม. ยาวประมาณ 52 ซม. และกว้างประมาณ 11.5 ซม. ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอด รวมทั้งสิ้นมีความยาวประมาณ 130 – 132 ซม. ปิดใต้ทองด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารองตอนหัว 4 เท้า และตอนปลายปางอีก 1 เท้า วัดจากปลายเท้าถึงตอนบนของตัวจะเข้ สูงประมาณ 19 ซม. ทำหลังนูนตรงกลางให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น 3 สาย มีลูกบิดประจำสายละ 1 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนจะถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า นม รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น 11 อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูง เรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ 2 ซม. จนสูง 3.5 ซม.
เวลาบรรเลงใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายขณะกดสายด้วย ไม้ดีดควรยาวประมาณ 7-8เซนติเมตร มีสายยาวประมาณ 45 เซนติเมตร


วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พิณอีสาน

 


พิณ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายแบบหนึ่ง มีหลายชนิดแตกต่างตามท้องที่ ในภาคอีสานของประเทศไทย พิณอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น "ซุง" หรือ "เต่ง" จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย มีรูปร่างคล้ายกีตาร์แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยทั่วไปมี 3 สาย ในบางท้องถิ่นอาจมี 2 หรือ 4 สาย บรรเลงโดยการดีดด้วยวัสดุทีเป็นแผ่นบาง เช่นไม้ไผ่เหลา หรืออาจใช้ปิ้กกีตาร์ดีดก็ได้ สมัยก่อนจะเล่นเครื่องเดียวเพื่อเกี้ยวสาว ปัจจุบันมักใช้บรรเลงในวงดนตรีโปงลาง วงดนตรีลำซิ่ง หรือวงดนตรีลูกทุ่ง

พิณน้ำเต้า

พิณน้ำเต้า เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด พิณน้ำเต้าเป็นพิณที่มีสายเดียว ทำมาจากผลของน้ำเต้าที่ถูกนำมาผ่าครึ่ง
โดยทั่วไปแล้วผู้ดีดพิณน้ำเต้าจะต้องไม่สวมเสื้อ ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่ดีดส่วนมากจะเป็นผู้ชาย โดยผู้ดีดจะนำเอากะโหลกเสียง หรือกะโหลกน้ำเต้าวางประกบแนบติดกับอกซ้าย มือซ้ายจะจับที่ทวน ส่วนมือขวาจะใช้ดีดพิณ
ผู้ดีดพิณน้ำเต้าที่มีความชำนาณในการเล่นจะขยับกะโหลกน้ำเต้าให้เปิด-ปิด อยู่ตรงหน้าอกข้างซ้ายในบางครั้งบางครา เพื่อให้เกิดเสียงที่ก้องกังวาน ตามความประสงค์ของผู้ที่ดีด แล้วใช้นิ้วซ้ายช่วยกด เพื่อให้สายตึงหรือหย่อน


พิณเปี๊ยะ

พิณเปี๊ยะ หรือ พิณเพียะ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ลักษณะของพิณเปี๊ยะมีคันทวนยาวประมาณ 1 เมตรเศษ ตอนปลายคันทวนทำด้วยเหล็กรูปหัวช้างทองเหลือง สำหรับใช้เป็นที่พาดสาย ใช้สายทองเหลืองเป็นพื้น สายทองเหลืองนี้จะพาดผ่านสลักตรงกะลาแล้วต่อไปผูกกับสลักตรงด้านซ้าย สายของพิณเปี๊ยะมีทั้ง 2 สายและ 4 สาย กะโหลกของพิณเปี๊ยะทำด้วยเปลือกน้ำเต้าตัดครึ่งหรือกะลามะพร้าว ก็ได้ เวลาดีด ใช้กะโหลกประกบติดกับหน้าอก ขยับเปิดปิดให้เกิดเสียงตามต้องการ เช่นเดียวกับพิณน้ำเต้าของภาคกลาง
ในสมัยก่อนชาวเหนือมักจะใช้พิณเปี๊ยะดีดคลอกับการขับลำนำในขณะที่ไปเที่ยวสาว พิณเปี๊ยะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเพราะเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก

ประวัติดนตรีไทย

 ประวัติดนตรีไทย    
         จากการสันนิษฐานของท่านผู้รู้ทางด้าน ดนตรีไทย โดยการพิจารณาหาเหตุผล เกี่ยวกับกำเนิด หรือที่มาของ ดนตรีไทย ก็ได้มีผู้เสนอแนวทัศนะในเรื่องนี้ไว้ 2 ทัศนะ
ที่แตกต่างกันคือ
         ทัศนะที่ 1 สันนิษฐานว่า ดนตรีไทย ได้แบบอย่างมาจากอินเดีย เนื่องจากอินเดีย เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อารยธรรมต่าง ๆ ของอินเดีย
ได้เข้ามามีอิทธิพล ต่อประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียอย่างมาก ทั้งในด้าน ศาสนา ประเพณีความเชื่อ ตลอดจน ศิลป แขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านดนตรี ปรากฎรูปร่าง
ลักษณะ เครื่องดนตรี ของประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย เช่น จีน เขมร พม่า อินโดนิเซีย และ มาเลเซีย มีลักษณะ คล้ายคลึงกัน เป็นส่วนมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากประเทศเหล่านั้นต่างก็
ยึดแบบฉบับดนตรี ของอินเดีย เป็นบรรทัดฐาน รวมทั้งไทยเราด้วย เหตุผลสำคัญที่ท่านผู้รู้
ได้เสนอทัศนะนี้ก็คือ ลักษณะของ เครื่องดนตรีไทย สามารถจำแนกเป็น 4 ประเภท คือ
  • เครื่องดีด
  • เครื่องสี
  • เครื่องตี
  • เครื่องเป่า
         ใกล้เคียงกับลักษณะ เครื่องดนตรี อินเดียตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ "สังคีตรัตนากร" ของอินเดีย ซึ่งจำแนกเป็น 4 ประเภท เช่นกันคือ
  • ตะตะ คือ เครื่องดนตรี ประเภทมีสาย
  • สุษิระ คือ เครื่องเป่า
  • อะวะนัทธะ หรือ อาตตะ คือ เครื่องหุ้มหนัง หรือ กลอง ต่าง ๆ
  • ฆะนะ คือ เครื่องตี หรือ เครื่องกระทบ
         การสันนิษฐานเกี่ยวกับ กำเนิดหรือที่มาของ ดนตรีไทย ตามแนวทัศนะข้อนี้ เป็นทัศนะที่มีมาแต่เดิม นับตั้งแต่ ได้มีผู้สนใจ และ ได้ทำการค้นคว้าหาหลักฐานเกี่ยวกับ เรื่องนี้ขึ้น และนับว่า เป็นทัศนะที่ได้รับการนำมากล่าวอ้างกันมาก บุคคลสำคัญที่เป็น
ผู้เสนอแนะแนวทางนี้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวงการประวัติศาสตร์ของไทย

         ทัศนะที่ 2 สันนิษฐานว่า ดนตรีไทย เกิดจากความคิด และ สติปัญญา ของคนไทย เกิดขึ้นมาพร้อมกับคนไทย ตั้งแต่ สมัยที่ยังอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนแล้ว
ทั้งนี้เนื่องจาก ดนตรี เป็นมรดกของมนุษยชาติ ทุกชาติทุกภาษาต่างก็มี ดนตรี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของตนด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าในภายหลัง จะมีการรับเอาแบบอย่าง ดนตรี ของต่างชาติเข้ามาก็ตาม แต่ก็เป็น การนำเข้ามาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม กับลักษณะและนิสัยทางดนตรีของคนในชาตินั้น ๆ ไทยเราตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ทางตอนใต้
ของประเทศจีน ก็คงจะมี ดนตรี ของเราเองเกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า เครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทย จะมีชื่อเรียกเป็นคำโดด ซึ่งเป็นลักษณะของคำไทยแท้ เช่น
  • เกราะ, โกร่ง, กรับ
  • ฉาบ, ฉิ่ง
  • ปี่, ขลุ่ย
  • ฆ้อง, กลอง .. เป็นต้น
         ต่อมาเมื่อไทยได้ อพยพ ลงมาตั้งถิ่นฐานในแถบแหลมอินโดจีน จึงได้มาพบ
วัฒนธรรมแบบอินเดียโดยเฉพาะเครื่องดนตรีอินเดีย ซึ่งชนชาติมอญ และ เขมร รับไว้ก่อนที่ไทยจะอพยพเข้ามา ด้วยเหตุนี้ ชนชาติไทยซึ่งมีนิสัยทางดนตรีอยู่แล้ว จึงรับเอาวัฒนธรรมทางดนตรีแบบอินเดีย ผสมกับแบบมอญและเขมร เข้ามาผสมกับดนตรี
ที่มีมาแต่เดิมของตน จึงเกิดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่
  • พิณ
  • สังข์
  • ปี่ไฉน
  • บัณเฑาะว์
  • กระจับปี่ และจะเข้ เป็นต้น
         ต่อมาเมื่อไทยได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมอินโดจีนอย่างมั่นคงแล้ว ได้มีการติดต่อ สัมพันธ์ กับประเทศเพื่อนบ้านในแหลมอินโดจีน หรือแม้แต่กับประเทศทางตะวันตก
บางประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขาย ทำให้ไทยรับเอาเครื่องดนตรีบางอย่างของประเทศต่างๆ เหล่านั้นมาใช้เล่นในวงดนตรีไทย ด้วย เช่น กลองแขก ปี่ชวา ของชวา (อินโดนิเซีย) กลองมลายู ของมลายู (มาเลเซีย) เปิงมาง ตะโพนมอญ ปี่มอญ และฆ้องมอญของมอญ กลองยาวของพม่า ขิม ม้าล่อของจีน กลองมริกัน (กลองของชาวอเมริกัน) เปียโน ออร์แกน และ ไวโอลีน ของประเทศทางตะวันตก เป็นต้น